ภารกิจสำนักฯ

สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดมาตรการดูแลด้านการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยให้กับประชาชนในเขตชุมชนต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะต้องดำเนินภารกิจด้านการป้องกัน ระงับเหตุและฟื้นฟูให้การสงเคราะห์

1.ด้านการป้องกันก่อนเกิดเหตุ โดยได้ดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ เพื่อป้องกันอัคคีภัยให้กับประชาชนในชุมชน ดังนี้

1.1 การตรวจสอบอาคารและพื้นที่เสี่ยงภัย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารชุมนุมคนจำนวน 3,000 แห่ง รวมทั้งพื้นที่ย่านที่มีความเสี่ยงเช่นบริเวณเชียงกง ถนนสายไม้ สถานีจำหน่ายและสะสมแก๊สเป็นต้น

1.2 โครงการชุมชนปลอดภัย (ประปาหัวแดง) โดยกรุงเทพมหานครร่วมกับ การประปานครหลวง ติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ในพื้นที่ชุมชนจำนวน 2,096 จุดในปี 2549 – 2550 และติดตั้งไปแล้ว 1,431 จุด

1.3 โครงการอบรมให้ความรู้การอพยพหนีไฟ แก่เด็กนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด จำนวน 433 แห่ง

1.4 การอบรมฝึกซ้อมการอพยพหนีไฟ ได้แก่ ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้ดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ชุมชนเป้าหมาที่มีความเสี่ยง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 805 ชุมชน

1.5 การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เกิดอัคคีภัยและวิธีการปฏิบัติตนเมื่อเกิดอัคคีภัย ผ่านสื่อต่าง ๆ และดำเนินการแจกจ่ายแผ่นพับแผ่นปลิวให้ประชาชนได้รับความรู้

1.6 การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในสังกัด เพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการศึกษาดูงานทั้งในและนอกประเทศ

1.7 โครงการพัฒนาศักยภาพ อปพร. เพื่อให้กลุ่มพลังมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยทำการฝึกอบรมให้ความรู้สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ

1.8 โครงการจัดตั้งสถานีเพิ่มเติม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการให้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

การดำเนินการเตรียมการป้องกันอัคคีภัย จะบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมในการป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง สำหรับมาตรการระยะยาวจะพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่โดยการจัดตั้งโรงเรียนดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร เพื่ออบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประชาชนทั่วไป ให้มีความชำนาญและทักษะในการปฏิบัติงานด้านการระงับเหตุให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัดในแต่ละจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร จัดทำแผนการป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมทั้งกำหนดการฝึกซ้อมแผนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2.ด้านการระงับเหตุ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดำเนินภารกิจดังกล่าว จึงได้จัดทำแผนเผชิญเหตุ โดยสนธิกำลังระหว่างหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานภายนอก เพื่อให้การเข้าทำการดับเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมทั้งร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ในการจัดทำแผนอพยพหนีไฟ นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร โดยการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมภัยพิบัติ โดยเป็นศูนย์ควบคุมสั่งการ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

3.ด้านฟื้นฟูและสงเคราะห์ โดยให้การสงเคราะห์ผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต โดยมอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค เงินทุนประกอบอาชีพค่ารักษาพยาบาล เงินปลอบขวัญเงินค่าจัดการศพ และเงินค่าที่พัก ชั่วคราว