ประวัติหน่วยงาน

ประวัติงานป้องกันและระงับอัคคีภัยของประเทศไทย

งานป้องกันและระงับอัคคีภัยสำหรับประเทศไทย ได้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในรัชสมัย พระราชาธิราช ประมาณ พ.ศ. 2057 – 2071 ได้จัดให้มีหมู่เวรยามรักษาการณ์ระวังภัย มีทั้งการสอดแนมระวังผู้ที่มารุกราน การก่อวินาศกรรม และวางเพลิงเผาเมือง ประจักษ์พยานที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ การตั้งหอกลองขึ้นภายในกำแพงพระนคร สูงประมาณ 1 เส้น หอกลองที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น มีอยู่ 3 ชนิด คือ
1. กองมหาฤกษ์ ใช้ตีเมื่อเวลามีข้าศึกหรือเกิดจลาจล มีขบถขึ้นกลางเมือง
2. กลองพระมหาระงับดับเพลิง ใช้ตีเมื่อเวลาไฟไหม้ ถ้าไฟในกำแพงเมืองให้ตี 3 รา หากไหม้นอกกำแพงเมืองพนักงานจะตีกลองเป็นจังหวะสม่ำเสมอไปจนกว่าไฟจะดับ
3. กลองพระทีพาราตรี ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่งและย่ำค่ำ
กลองทั้ง 3 ชนิดนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนเสียใหม่เป็นกลองนำพระสุริยศรี กลองอัคคีพินาศ และกลองพิฆาตไพรี เพิ่งมาเลิกใช้กลองในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ร.ศ.124 (พ.ศ.2450) จอมพลพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงนครชัยศรีสุระเดช ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน จัดวิธีการปกครองและระเบียบการทหารบกใหม่ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เกี่ยวกับการแยกดับเพลิง ความว่า.-

“หน้าที่การดับเพลิงนี้ ถ้าไม่จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขึ้นโดยจริงจังแล้ว พระอาญาคงไม่พ้นเกล้า ด้วยบ้านเมืองนับว่าจะเจริญมั่นคงขึ้นทุกที ถ้าไม่จัดการดับเพลิงให้เป็นระเบียบตลอดแล้ว การในเรื่องนี้คงไม่ดีขึ้นได้ การที่จะจัดเรื่องดับเพลิง เห็นด้วยเกล้าว่าจะต้องจัดตั้งขึ้นเป็นแผนกหนึ่ง กรมหนึ่งต่างหาก ฝึกหัดคนไว้เฉพาะหน้าที่ให้คล่องแคล่ว และมีหน้าที่เฉพาะการดับเพลิง และเตรียมการ การดับเพลิงนั้นจะต้องแยกกันเป็นกองร้อยไปประจำในตำบลต่างๆ อีกชั้นหนึ่งจึงจะได้ผลจริง คุณจะมีมากคุ้มกับพระราชทรัพย์ที่จะเสียในการตั้ง  “กรมดับเพลิง” นี้ โดยแท้การดับเพลิงนี้จะอยู่ในกระทรวงนครบาล หรือในการปกครองทหารนั้นแล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร แต่ถ้าหากอยู่ในปกครองทหารแล้ว จะเป็นเหตุให้นานาประเทศสังเกตงบประมาณทหารมากขึ้น และเข้าใจผิดไปเพราะการทั้งนี้ย่อมไม่ใช่เป็นหน้าที่ของทหาร ตามสมมติเข้าใจในเมืองต่างประเทศการที่กราบบังคมทูลพระกรุณาเช่นนี้ หาได้คิดหลีกเลี่ยงหน้าที่โดยประการใดประการหนึ่งไม่เห็นแก่ประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น แม้มี “กรมดับเพลิง” เช่นนี้แล้ว เมื่อเกิดเพลิงใหญ่ทหารก็จำใจต้องไปช่วยอยู่เช่นเดิมนั่นเอง แต่ได้กำลังของ “กรมดับเพลิง”  นี้เป็นผู้อำนวยการและวางแผน

จากเหตุผลดังกล่าว เมื่อได้มีการจัดการทหารมณฑลกรุงเทพฯ ขึ้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกหน้าที่การดับเพลิงจากฝ่ายทหารให้มาขึ้นกับ “กรมตระเวน” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “กรมตำรวจนครบาล” มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและดับไฟอย่างเต็มที่ ในสมัยที่กิจการดับเพลิงได้โอนมาขึ้นอยู่กับกรมตำรวจนี้ ตามหลักฐานปรากฏว่าในปี พ.ศ.2461 พ่อค้าประชาชนได้ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์ซื้อรถดับเพลิงให้แก่กรมตำรวจ 1 คัน และนับว่าเป็นรถดับเพลิงคันแรกที่มีอยู่ในกรมตำรวจ จนกระทั่งปี พ.ศ.2474 กรมตำรวจมีรถดับเพลิง 5 คัน เรือดับเพลิง 1 ลำ ซึ่งนับว่าเป็นระยะที่กรมตำรวจมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ทันสมัยขึ้น อำนาจหน้าที่ในการดับเพลิงจึงตกมาเป็นของตำรวจโดยสมบูรณ์ ทหารและบริษัทฯ ที่เคยดำเนินการช่วยเหลืออยู่ก็เลิกล้มไป
ถึงแม้ว่ากรมตำรวจจะมีอุปกรณ์ในการดับเพลิงที่ทันสมัยขึ้นก็ตาม  แต่การปฏิบัติงานก็หาบรรลุตามเป้าหมายเท่าที่ควรไม่ ปรากฏว่า สถิติเพลิงไหม้และความเสียหายมีประมาณสูงขึ้น เพราะยังขัดข้องอยู่ที่จำนวนเจ้าหน้าที่และการติดต่อสื่อสาร
นับวันที่ประเทศไทย ได้เปลี่ยนการปกครอง รัฐบาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กิจการดับเพลิงเป็นงานที่ต้องเร่งปรับปรุงเป็นเรื่องด่วน และถือว่าอัคคีภัยเป็นภัยที่ร้ายแรงของประชาชน ที่ควรได้รับความคุ้มครองโดยเร็วที่สุด จึงได้ตรวจตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มกฎหมายลักษณะอาญาพุทธศักราช 2475 เพิ่มโทษผู้ทุจริตวางเพลิงให้มากขึ้น โดยมีโทษอย่างแรงที่สุด ถึงการประหารชีวิต ต่อมาคณะรัฐประหารได้จัดตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนคณะรัฐมนตรี ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนฝ่ายทหารและผู้แทนฝ่ายตำรวจ เพื่อพิจารณาทางแก้ไขกิจการดับเพลิงที่ปฏิบัติไม่ได้ผลได้ตามเป้าหมายในขณะนั้นผลการพิจารณาหารือของกรรมการชุดนี้ มีความเห็นว่า ควรจะจัดตั้งกองดับเพลิงอาชีพหรือประจำขึ้น อย่างที่นานาประเทศปฏิบัติกัน แต่เนื่องจากทางตำรวจยังขาดกำลังคนและกำลังงบประมาณ กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งโอนเงินเดือนและกำลังคนมาขึ้นกับกรมตำรวจ โดยจัดรวบรวมหน่วยดับเพลิงที่กระจัดกระจายกันอยู่มาเข้าเป็นแผนกหนึ่ง ในความรับผิดชอบของหัวหน้าแผนกดับเพลิง ขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ ในปี พ.ศ. 2480 ด้วยเหตุผลบางประการ กรมตำรวจได้จัดรูปส่วนราชการใหม่ จึงเป็นผลให้ต้องโอนกิจการบุคคลในแผนกดับเพลิง ไปสังกัดอยู่กับเทศบาลนครกรุงเทพฯ บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เปลี่ยนฐานะไปเป็นพนักงานเทศบาล มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาลสืบไป
แม้หน่วยดับเพลิงจะได้จัดตั้งขึ้นเป็นปึกแผ่นแล้วในสมัยนั้น แต่เหตุการณ์และอุปสรรคหลายประการไม่สามารถช่วยกิจการดับเพลิงให้วิวัฒนาการไปตามสมควร เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ได้รับการเอาใจใส่สมัยแรกๆ ต้องประสบปัญหานานับประการ ยิ่งกว่านั้นสถานการณ์สงคราม ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องปฏิบัติงานอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ที่ได้ออกปฏิบัติงานจนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บไม่เคยรับค่าตอบแทนเป็นบำเหน็จพิเศษแต่อย่างใดเลย

กิจการดับเพลิงในสมัยวิวัฒนาการ
บทเรียนที่ได้ประสบทั้งในยามปกติ จลาจล และสถานการณ์สงคราม ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเกิดความอดทน ความมานะบากบั่น และหาทางปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ โดยยึดถืออุดมคติในการทำงานเพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติ ในปีพ.ศ. 2496 กระทรวงมหาดไทยได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ด้านนี้อย่างมาก จึงได้สั่งโอนกิจการดับเพลิงจังหวัดพระนคร – ธนบุรี กลับเข้ามาขึ้นสังกัดกรมตำรวจตามเดิม โดยกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีฐานะเป็นกองกำกับการในกองสวัสดิภาพประชาชน เรียกว่า “กองกำกับการดับเพลิง” แบ่งส่วนราชการ เป็น 4 แผนก คือ
1. แผนกนครบาลพระนครเหนือ
2. แผนกนครบาลพระนครใต้
3. แผนกนครบาลธนบุรี
4. แผนกช่างและแผนการ
ในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งอยู่ในสมัยการปฏิวัติได้เกิดเพลิงไหม้ทั่วราชอาณาจักร ประเมินค่าความเสียหายถึง 124,190,663 บาท คณะปฏิวัติได้ตระหนักถึงภัยพิบัติที่เกิดจากอัคคีภัยเป็นอย่างมาก จึงได้พิจารณาให้มีการแก้ไขงานในด้านป้องกันและระงับอัคคีภัยขึ้น และผลการพิจารณาครั้งนี้ กองกำกับการดับเพลิงได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็น “กองตำรวจดับเพลิง” ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจนครบาล แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 กองกำกับการ คือ
กองกำกับการ 1 มี 2 แผนก คือ
1. แผนกป้องกันเพลิง
2. แผนกอบรมการดับเพลิง

กองกำกับการ 2 มี 2 แผนก คือ
1. แผนกผจญเพลิง
2. แผนกช่าง

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกิจการดับเพลิง
แม้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการดับเพลิง จะมีฐานะเป็น “กอง” ก็ตามแต่สภาพเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอยู่ส่วนมาเป็นของเก่าชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเพลิงไหม้แต่ละครั้ง เครื่องมือที่มีอยู่ใช้ไม่ใคร่ได้ผล เพราะกองตำรวจดับเพลิงยังขาดงบประมาณ ขาดเจ้าหน้าที่จะซ่อมแซม การปฏิบัติงานแต่ละครั้งจึงไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร แต่ก็ยังนับว่าเป็นนิมิตที่ดีของกองตำรวจดับเพลิง และทรัพย์สินของประชาชนที่พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น (ขณะนั้นเป็น พล.ต.ประเสริฐ ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ) ได้มาตรวจราชการกองตำรวจดับเพลิง เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2500 เวลาประมาณ 11.00 น. และผลของการตรวจราชการของท่านครั้งนั้น ท่านได้พบสภาพชำรุดทรุดโทรมของเครื่องมือเครื่องใช้ อาคารที่ทำการเป็นอย่างมาก และได้สั่งการให้ปรับปรุงกิจการของ กองตำรวจดับเพลิงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้จัดการให้เพิ่มทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่และงบประมาณในการดับเพลิง ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งของวงการดับเพลิงของประเทศไทยก็ว่าได้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงสภาพของกองตำรวจดับเพลิงตอนนั้น จึงขอยกบันทึกการตรวจราชการของรองอธิบดีกรมตำรวจ มาเพื่อประกอบการพิจารณา คือ
“2 พ.ย. 2500 เวลา 11.00 น. ได้มาตรวจสถานีดับเพลิงพญาไท ได้ตรวจสถานที่ต่างๆ รถดับเพลิงอยู่ในสภาพเรียบร้อย ห้องพัสดุควรจะได้จัดข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นที่เป็นแห่งๆ และทำป้ายบอกจำนวนให้เรียบร้อย เมื่อของใดที่ไม่ใช้ก็ให้รายงานจำหน่ายเสีย โรงซ่อมยังไม่สะอาดให้จัดการให้เรียบร้อย ห้องส้วม ห้องน้ำ ให้ดูแลให้สะอาด ส่วนทั่ว ๆ ไปพอใช้ การตรวจขอให้ตรวจกันจริง ห้องสมุดยังมีน้อยไป ควรจะหามาอีกให้ขอจากผู้มีจิตศรัทธา ข้าราชการที่ตายในการดับเพลิงให้ทำสมุดประวัติไว้ จะได้ให้รุ่นหลังดูเป็นตัวอย่างจะได้มีกำลังใจในการดับเพลิง ในการปฏิบัติราชการประตูเข้ารู้สึกยังคับแคบไป เวลาจะออกดับเพลิงคงจะไม่เหมาะ เครื่องมือซ่อมซึ่งมีไม่เพียงพอ ให้รายงานขึ้นไป การเบิกของจาก พธ. ก็ยังไม่ได้ ให้เร่งไปอีก”

ลงชื่อ  พลตรี ประเสริฐ  รุจิรวงศ์
รอง อ.ตร.
2 พ.ย. 2500

หลังจากที่อธิบดีกรมตำรวจ มาตรวจราชการในครั้งนั้นแล้ว ก็ได้สั่งให้มีการปรับปรุงกิจการดับเพลิง ให้เจริญรุดหน้าขึ้นเป็นลำดับ จัดสรรงบประมาณให้ซ่อมแซมรถเก่าที่ชำรุดให้ใช้การได้เป็นอย่างมาก จนกระทั่ง ในต้นปี พ.ศ. 2503 แผนกช่างของกองตำรวจดับเพลิง ได้ดัดแปลงรถแลนด์โรเวอร์ที่ชำรุดออกจากกองพลาธิการกรมตำรวจ เป็นรถดับเพลิงคันแรกที่ผลิตในประเทศไทยและได้ให้ชื่อว่า “รถเสริมกำลัง 9” หมายเลขโล่ 0471 ซึ่งนับว่าได้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก
จากการมองการณ์ไกลของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ดังที่กล่าวมาแล้ว กองตำรวจดับเพลิง จึงได้ขยายแผนการปฏิบัติงานออกไป เพื่อให้บริการแก่ประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ในการนี้กองตำรวจดับเพลิง  มีสภาพพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ด้านไฟไหม้อย่างเดียว แม้กระทั่งน้ำท่วม พายุ การขาดแคลนน้ำ และอุบัติเหตุต่างๆ ที่ร้ายแรง ตำรวจดับเพลิงจะเข้าไปช่วยเหลือพร้อมทั้งอพยพประชาชนและสัตว์เลี้ยง ตลอดจนช่วยซ่อมแซมบ้านพัก และแจกจ่ายเครื่องอุปโภค บริโภค เวชภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประสบภัย ทางธรรมชาติ
เพื่อให้การบริการด้านการช่วยเหลือกประชาชนได้ประสบความสำเร็จ และเป็นไปอย่างกว้างขวาง กองตำรวจดับเพลิงได้จัดตั้งหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านนี้ขึ้น เรียกว่า “หน่วยบรรเทาสาธารณภัย”หรือชื่อย่อ “บ.ภ.” หมายเลข 199
จากแนวความคิดและความตั้งใจจริงอย่างไม่ย่อท้อของ พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร ที่จะปฏิบัติงานด้านการระงับอัคคีภัยให้มีประสิทธิ์ภาพมากยิ่งขึ้น และประกอบกับการมองการณ์ไกลของคณะที่ปรึกษาฯ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงได้อนุมัติให้กองตำรวจดับเพลิง ขยายส่วนราชการ เพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น  โดยอาศัยกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2514 กองตำรวจดับเพลิง จึงยกฐานะเป็น กองบังคับการตำรวจดับเพลิง และปฏิบัติงานทางด้านป้องกันระงับอัคคีภัยและบรรเทาสาธารณภัย เจริญรุดหน้ามาโดยตลอด
จนกระทั่งได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของ กองบังคับการตำรวจดับเพลิงให้มีขนาดเล็กลง โดยมีแนวคิดที่จะโอนภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจโดยตรงให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง งานด้านดับเพลิงและกู้ภัย ถือเป็นภารกิจหนึ่ง ที่มิใช่หน้าที่โดยตรงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นควรที่จะโอนภารกิจดังกล่าวให้กรุงเทพมหานคร รับไปดำเนินการ

ภารกิจดับเพลิงคืนสู่กรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2546 มติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 เรื่องการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจกองบังคับการตำรวจดับเพลิงสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร โดยให้ภารกิจกองบังคับการตำรวจดับเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร  ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 และคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโอนยานพาหนะวัสดุ, อุปกรณ์ และอาคารสถานที่ ให้กรุงเทพมหานครแล้ว กรุงเทพมหานครก็สามารถปฏิบัติภารกิจการรักษาความปลอดภัยแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เป็นอย่างดี

ตั้งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เพื่อปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี ที่ให้โอนภารกิจดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย มาอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครได้มีมติ ก.ก. ครั้งที่ 8/2546 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546 อนุมัติให้จัดตั้งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยรับโอนภารกิจ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากสำนักตำรวจแห่งชาติมาอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจดับเพลิง สมัครโอนไปสังกัดสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพียง ๑๗๐ นาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีหนังสือที่ ตช.0006.334/4719 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 อนุมัติให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดของกองบังคับการตำรวจดับเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 1,217 นาย ช่วยราชการที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมายมีกำหนด 2 ปี นับ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไป และต่อมามีข้าราชการตำรวจดับเพลิงสมัครใจโอนเพิ่มเติมอีก 128 นาย รวมมีข้าราชการตำรวจดับเพลิงสมัครใจโอนมารับราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 298 นาย

กรุงเทพมหานครได้รับมอบภารกิจดับเพลิงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 พร้อมได้มีพิธีรับมอบภารกิจ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2546
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือที่ ตช. 006.28/11825  ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 และหนังสือที่ ตช.0006.28/3582 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เชิญประชุมหารือการประสานงานเกี่ยวกับการโอนภารกิจกองบังคับการตำรวจดับเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับภารกิจการถวายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยในเขตพระราชฐานที่ประทับ ซึ่งในคราวการประชุมในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 นั้น ได้มีข้อสรุปในเรื่องกำลังพล อาคารสถานที่ วัสดุ – อุปกรณ์ และยานพาหนะ และในเรื่องการถวายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยในเขตพระราชฐานที่ประทับทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งกรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจะต้องปฏิบัติภารกิจถวายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดในระยะแรกของการรับโอนจะต้องสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติภารกิจการถวายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยระยะหนึ่งจนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะมีความพร้อม

รายชื่อผู้บังคับบัญชาที่เริ่มก่อตั้ง ตั้งแต่เริ่มแรก
1.  พ.ต.ต.ชั้น  รัศมิทัต                           พุทธศักราช 2484 – 2490
2.  พล.ต.ต.ม.ร.ว.เกี่ยว  ทินกร                 พุทธศักราช 2490 – 2500
3.  พล.ต.ต.ม.ล.จเร  สุทัศน์                    พุทธศักราช 2500 – 2511
4.  พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์  ประวิตร        พุทธศักราช 2511 – 2516
5.  พล.ต.ต.แวน  สุขวัจน์                        พุทธศักราช 2516 – 2517
6.  พล.ต.ต.สุวิทย์  โสตถิทัต                     พุทธศักราช 2517 – 2518
7.  พล.ต.ต.เฉลิมศักดิ์  โรจนประดิษฐ์          พุทธศักราช 2518 – 2519
8.  พล.ต.ต.ศักดิ์ระพี   ปรักกมะกุล             พุทธศักราช 2519 – 2525
9.  พล.ต.ต.ทศ  ธรรมกุล                        พุทธศักราช 2525 – 2528
10. พล.ต.ต.จงเสน่ห์  สุวรรณจินดา             พุทธศักราช 2528 – 2533
11. พล.ต.ต.ไพบูลย์  สัมมาทัต                   พุทธศักราช 2533 – 2535
12. พล.ต.ต.ชาตรี  สุทัศน์ ณ อยุธยา          พุทธศักราช 2535 – 2537
13. พล.ต.ต.เอนก   ว่องวานิช                   พุทธศักราช 2537 – 2539
14. พล.ต.ต.พีระพล  สุนทรเกตุ                 พุทธศักราช 2539 – 2541
15. พล.ต.ต.สุพจน์  สิริโยธิน                     พุทธศักราช 2541 – 2543
16. พล.ต.ต.อธิลักษณ์  ตันชูเกียรติ             พุทธศักราช 2543 – 2546

รายชื่อผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่ได้รับโอนภารกิจ ถึงปัจจุบัน
17. พล.ต.ต.อธิลักษณ์   ตันชูเกียรติ         1 พ.ย. 2546     – 30 ก.ย. 2547
18. นายนิยม กรรณสูต                          1 ต.ค. 2547    – 7 พ.ค. 2552
19. นายนิคม บุญพิทักษ์                        7 พ.ค. 2552     – 28 ต.ค. 2552
20. นายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง                28 ต.ค. 2552     – 30 ก.ย. 2555
21. พ.ต.อ.พิชัย  เกรียงวัฒนศิริ              24 ต.ค. 2555     – 5 พ.ย. 2558
22. นายชุมพล ชาวเกาะ                        26 ก.พ. 2559    – 6 ม.ค. 2560
23. พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา        1 เมษายน 2560 – 30 กันยายน 2561
24. พ.ต.ท.สมเกียรติ   นนทแก้ว             25 ธันวาคม 2561 – ปัจจุบัน